หากพูดถึงเรื่อง “การจัดการเงิน” ส่วนบุคคล หรือ การจัดการเงินในครอบครัวของเรานั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวของเราและสำคัญมากในชีวิตของเราอีกอย่างหนึ่ง เพราะหากเราทำงาน มีรายได้ แต่เราไม่สามารถบริหารหรือจัดการเงินของเราได้ นั่นหมายถึง ความล้มเหลวทางการเงิน ที่เราอาจต้องเผชิญ ไม่ว่าจะมี รายได้มากน้อย ก็ล้วนแล้วแต่ต้อง บริหารและจัดการเงิน ด้วยกันทั้งสิ้น เราจะมาพูดถึง “หลักการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล” ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- ด้านสภาพคล่อง หรือเงินสำรอง เพื่อใช้จ่ายหมุนเวียนในครอบครัว รวมไปถึงเป็นค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ การสำรองเงินเพื่อใช้จ่ายนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละอาชีพในการสำรองเงินมากน้อยเพียงใด อย่างเช่น พนักงานบริษัท มีเงินเดือน รายได้ประจำ อย่างน้อยขั้นต่ำควรมีสำรองไว้ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สำหรับเจ้าของธุรกิจอาจต้องมีเงินสำรองมากกว่า เพราะมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องสำรองเงินไว้มากกว่า หรือต้องสำรองเงินไว้เผื่อขยายธุรกิจหรือลงทุนต่อในอนาคต
- ด้านการใช้จ่าย การจัดสรรค่าใช้จ่าย โดยแบ่งเป็น 3 ค่าใช้จ่าย
2.1 ค่าใช้จ่ายคงที่ ที่ต้องจ่ายประจำทุกเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ
2.2 ค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง
2.3 ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและลงทุน เช่น ลงทุนในกองทุนรวม หุ้น เงินฝากประจำ
โดยพยายามจัดสรร ให้ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผ่อนบ้าน หรือ รถ ไม่เกิน 30% ของรายได้ เพื่อไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของเรา
- ด้านหนี้สิน การจัดการหนี้สิน ไม่ควรมีหนี้สินมากกว่า 50% ของสินทรัพย์ ลองเช็ค รายการสินทรัพย์ทั้งหมด และหนี้สินทั้งหมด แล้วนำมา สินทรัพย์ หักลบ หนี้สิน จะเห็นว่าตัวเลขนั้น เท่ากับเท่าไหร่ เราจะได้ สินทรัพย์สุทธิ หรือ ความมั่งคั่งที่แท้จริงของเรา
เช่น (สินทรัพย์ บ้าน 3,000,000 บาท + รถ 800,000 บาท + ทองคำ 200,000 บาท ที่ดิน 2,000,000,000 บาท) สินทรัพย์รวมเท่ากับ 6,000,000 บาท หักส่วน (หนี้สิน หนี้บ้านคงค้าง 1,000,000 บาท + หนี้รถคงค้าง 200,000 บาท + หนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท) หนี้สินรวมเท่ากับ 1,300,000 บาท จะได้สินทรัพย์สุทธิหรือความมั่งคั่งของเรา เท่ากับ 6,000,000 – 1,300,000 = 4,700,000 บาท เห็นได้ว่า สินทรัพย์ในส่วนที่เป็นของเราแท้จริงแล้วมีมูลค่า 4,700,000 บาท
- ด้านการออมและลงทุน หากจัดสรรการใช้จ่ายเป็นอย่างดีแล้ว เราจะมีเงินส่วนหนึ่งในการออมและลงทุน ตามเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายเพื่อทุนการศึกษาบุตร เป้าหมายเพื่อเกษียณอายุ สัดส่วนการออมและลงทุนควรอยู่ที่ขั้นต่ำ 10 % – 30 % ของรายได้ ซึ่งช่องทางการออม การลงทุนขึ้นอยู่กับความถนัดหรือความรู้ของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซื้อที่ดิน หรือซื้อบ้าน คอนโด ปล่อยเช่า , ลงทุนในทองคำ , ลงทุนในกองทุนรวม , ลงทุนในหุ้น เป็นต้น
- ด้านการป้องกันความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านการประกันภัย และ ความเสี่ยงด้านการลงทุน ในส่วนของการป้องกันความเสี่ยงด้านการประกันภัย เช่น การทำประกันภัยทรัพย์สิน ประกันอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ เป็นต้น เพื่อโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกัน ลดความเสียหาย ความสูญเสียในน้อยลง และด้านการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน คือ การกระจายการลงทุน ไม่ลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ควรจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละ Asset Classes เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ 20% หุ้น 40% อสังหาริมทรัพย์ 30% ทองคำ 10% เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดสรรเงินของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ระดับความเสี่ยง และประสบการณ์ในการลงทุนของแต่ละบุคคล
- ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยประมาณการณ์เงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี รวมถึงสิทธิลดหย่อนที่มี เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และการวางแผนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ เช่น RMF ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อประหยัดภาษี นั้น ควรพิจารณาถึงเงื่อนไขของแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการผิดเงื่อนไข อาจถูกเรียกคืนภาษีหรือถูกสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังได้