ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของเรามีปัจจัยมากมายที่เราควรรู้ และหาวิธี
เพื่อวางแผนจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ ที่อาจมีผลทำให้สถานะการเงินของเราเปลี่ยนไป
โดยจะแบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้
- ปัจจัยภายนอก..ที่ควบคุมไม่ได้
ปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยระดับมหภาค ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อทุกคน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สงครามการค้า การประท้วง ปัญหาทางการเมือง ภัยธรรมชาติ การติดเชื้อไวรัส หรือ โรคระบาด ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของเราไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจทำให้รายได้ลดลง ขาดรายได้ ตกงาน หรือขาดทุนในการทำธุรกิจ จากปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ได้
- ปัจจัยภายใน..ที่ควบคุมได้
ปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยส่วนบุคคล ที่มีผลต่อสถานะทางการเงินของเรา ที่เราสามารถกำหนดด้วยตัวเองได้โดยปัจจัยทางบวก ที่ทำให้สถานะการเงินของเรามีความมั่นคงและมั่งคั่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ เช่น การบริหารการใช้จ่ายและหนี้สิน การมีวินัยในการออม
การวางแผนป้องกันความเสี่ยง การลงทุนเพื่อต่อยอด ฯลฯ และปัจจัยทางลบ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงล้มเหลวทางการเงิน เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีหนี้สินมากเกินไป ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ รวมไปถึง การเสี่ยงโชค การพนัน เป็นรูรั่วของเงินออมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยเหล่านั้น คือ การวางแผนเงินสำรองขั้นต่ำ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อรองรับหากเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจหรือปัจจัยที่เราไม่คาดคิดและในส่วนปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้นั้น
ล้วนขึ้นอยู่ที่ตัวเราในการวางแผนและจัดการมัน การวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารการใช้จ่าย จัดการหนี้สิน วางแผนประกัน วางแผนออมเงินและต่อยอดด้วยการลงทุน เพื่อสถานะทางการเงินที่มั่นคงและมั่งคั่งของเราเอง