เราลองมาดูกันหน่อยไหมว่าหากเราจะบริหารเงินเดือนกันจริงๆจังๆในแต่ละเดือนเราต้องจ่ายอะไรและจะประหยัดได้อย่างไร?
1.ค่ากิน ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเราต้องกินทุกวันและถ้าต้องซื้อทุกมื้อบอกเลยว่า 100 บาท/วันไม่อยู่แน่ แค่นี้ก็ปาเข้าไปอย่างต่ำๆก็เดือนละ 3,000 บาทแล้วไหนจะค่าน้ำอีก แต่ถ้าจะให้กินแบบอดๆอยากๆ มาม่าทุกวันก็ใช่ที่ ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราจะทำกับข้าวกินเองทั้งที่บ้านและใส่กล่องไปกินที่ทำงาน ซึ่งเราจะได้ประโยชน์เต็มๆในเรื่องคุณค่าทางอาหาร ความอร่อย ประหยัด และกินได้อิ่มอีกด้วย
2.ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถประจำทางหรือรถไฟฟ้า ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเสียเงินทั้งนั้น บางคนรวมๆทั้งไปกลับแทบจะมากกว่าค่าข้าวด้วยซ้ำ ซึ่งหากมองเป็นตัวเลขกลมๆไปกลับวันละ 100 บาท เดือนหนึ่งก็ 3,000 บาทเข้าไปแล้ว ลองหาหนทางประหยัดบ้างได้ไหมเช่น หากอยู่ใกล้ก็ลองเดินไปทำงาน ดีกว่าขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือจะออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานก็ยังได้ หากอยู่ไกลออกไปอีกหน่อยแทนที่จะขึ้นรถตู้ไปทำงาน ลองขึ้นรถเมล์แบบธรรมดาดูไหมหรือหากเป็นรถเมล์แบบแอร์ก็ยังน่าจะถูกกว่า ยังไงก็ลองบริหารดูเพราะถ้าประหยัดได้เงินเดือนก็เหลือเก็บอยู่หลายบาทเหมือนกัน
3.ค่าใช้จ่ายประจำ อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต เดือนหนึ่ง 3,000 บาท อยู่ไหม ลองหาวิธีการลดดู เช่น หากคืนไหนอากาศดีๆก็ใช้พัดลมแทนแอร์ รีดผ้าก็รีดสัปดาห์ละครั้งพอ ซักผ้าก็อาจใช้มือซักบ้างเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ค่าโทรศัพท์ก็พยายามใช้ให้น้อยที่สุด โทรทางไลน์ หรือทางเฟสบุ๊คก็ได้ ส่วนค่าอินเตอร์เน็ตอาจใช้ที่ราคาถูกที่สุด เปิดใช้เป็นวันๆเอาหรือไม่ก็ใช้แต่ WIFI ของที่ทำงานใช้เล่นตอนพักกลางวันก็พอแล้ว
4.ค่าสิ่งอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็น ค่าสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม โรลออน น้ำหอม ยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ ของพวกนี้ส่วนใหญ่เราจะซื้อกันเดือนละครั้งประมาณ 2,000-3,000 บาทคงได้ ทางที่ดีพยายามใช้ให้หมดถึงหยดสุดท้าย อย่าใช้ทิ้งๆขว้างๆเพราะทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อมาทั้งนั้น
5.ค่าใช้จ่ายในการให้ความสุขตัวเอง ทั้งการไปสังสรรค์กับเพื่อน การไปกินข้าวกับแฟน การไปช้อปปิ้ง การไปดูหนัง การไปเที่ยว เดือนหนึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าคุณใช้บริการข้อนี้มากน้อยแค่ไหน ทางที่ดีรวมๆกันเดือนละครั้ง สองครั้งก็พอนะ เพราะครั้งหนึ่งมีนค่อนข้างหมดหลายตังค์มาก
วิธีบริหารเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต
1.บริหารเงินเพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
การบริหารเงินแบบนี้ควรพิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย การเปลี่ยนงาน หรือเรื่องอื่นๆที่ไม่คาดคิด ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะกันเงินตรงนี้จากรายได้ประมาณ 10 % อาจเป็นการฝากธนาคารในเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือทำประกันชีวิต ทำประกันสุขภาพก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยคิดถึงตรงนี้ และคิดว่าเป็นรายจ่ายที่เพิ่มเติมแบบฟุ่มเฟือย แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจริงๆจะรู้ว่ามันช่วยได้เยอะเลยจริงๆ
2.บริหารเงินเพื่อการเก็บออม
ส่วนใหญ่เรามักหักเงินออมออกก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 10% หรือเดือนละ 1,000-2,000 บาทก็ยังดี ซึ่งเงินส่วนนี้โดยมากมักไม่ค่อยเบิกออกมาใช้ มักเก็บไว้ในระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้ตอนเกษียณเลยทีเดียว แต่ถ้ามีความจำเป็นมากๆไม่สามารถหาเงินตรงไหนได้ก็อาจต้องนำออกมา แล้วยาลืมใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย
3.บริหารเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคต
ถึงเราจะมีเงินออม 2 ทางบ้างแล้ว แต่ใช่ว่าจะสบาย หากพอมีรายได้พิเศษหรือเงินโบนัสอะไรเข้ามา เราก็อาจเก็บไว้ในเงินจุดนี้ เมื่อได้มากๆก็อาจนำไปลงทุนตามแบบที่ตัวเองชอบและพอมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนอาชีพอิสระ ซื้อทองเก็งกำไร ซื้อพันธบัตรหรือซื้อหุ้น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามในด้านของการลงทุนมักจะมีความเสี่ยงตามมาเสมอ เพราะฉะนั้นก่อนจะลงทุนอะไรก็ควรวางแผนให้ดีและทำความเข้าใจกับการลงทุนนั้นก่อนเสมอ